![]() |
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม |
ASEAN Digital Hub
กิจกรรมการดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)
ดศ. ได้มอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มศักยภาพไทยให้เป็นศูนย์กลางการติดต่อสารสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการเติบโตของอินเทอร์เน็ตทราฟฟิคสูง และยังตอบสนองความต้องการใช้งานดิจิทัลคอนเทนต์จำนวนมากในประเทศ ซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยการสร้างโอกาสอันดีที่ไทยจะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ประกอบกิจการคอนเทนต์ (Content Provider) รายใหญ่ให้มาตั้งฐานข้อมูลในไทยใช้งานผ่านโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำที่ได้ขยายความจุไว้พร้อมรองรับอันจะทำให้ไทยสามารถพัฒนาศักยภาพก้าวสู่การเป็น ASEAN Digital Hub ตอนบนได้อย่างมั่นคงซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมสำคัญ คือ
กิจกรรมย่อยที่ ๑ เสริมความแข็งแกร่งในประเทศและเขตติดต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยการเพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดนเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา และจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังสถานีเคเบิลใต้น้ำจังหวัดชลบุรี เพชรบุรี สงขลา สตูล และกับศูนย์โทรคมนาคมของ บมจ. กสท โทรคมนาคม ขนาดความจุรวม 2,300 Gbps
สถานะปัจจุบัน
การจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ตามสถานีต่าง ๆ ทั่วประเทศรวม ๑๕๑ สถานี (ตามแผนเดิม) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งมอบอุปกรณ์ให้กับกระทรวงฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ และกระทรวงฯ อนุมัติรับงานไว้ใช้ในราชการแล้ว
ทั้งนี้ มีปัญหาและอุปสรรคจากผลกระทบโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ ๓ ทำให้อุปกรณ์ที่ติดตั้งที่สถานีเพชรบุรี และสถานีศรีราชา (ระบบ PS) ไม่สามารถเชื่อมต่อใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จึงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพโครงข่ายเพื่อทดแทน โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๓ เห็นชอบให้ดำเนินการปรับปรุงแผนงานและงบประมาณการดำเนินโครงการฯ ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งและตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานให้ได้ตามวัตถุประสงค์ (Final Acceptance Test) แล้วเสร็จ และได้จัดทำผลการทดสอบที่เกี่ยวข้องมาให้แก่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติพิจารณาแล้ว โดยคณะกรรมการตรวจรับฯ ของ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้รับไว้ใช้งานแล้ว เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๔ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการรับไว้ใช้งานอย่างเป็นทางการของ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ก่อนส่งมอบให้แก่ สป.ดศ. ต่อไป
ในส่วนทรัพย์สินภายใต้กิจกรรมย่อยที่ ๑ ได้ให้ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ยืมพัสดุอุปกรณ์เพื่อนำไปให้บริการโดยต้องลดอัตราค่าบริการวงจรเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้การให้บริการไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐
ของอัตราค่าบริการภายในเวลา ๑ ปี ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดค่าบริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะส่งผลให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับประชาชนถูกลง รวมทั้งจูงใจให้ภาคเอกชนมาใช้บริการและทำให้ค่าบริการของเอกชนภายในประเทศลดลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรวม
กิจกรรมย่อยที่ ๒ ขยายความจุโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิมโดยร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีสมาชิกของระบบ ขยายความจุโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศของระบบที่มีอยู่ รวม 1,770 Gbpsเพื่อลดค่าบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับประชาชนถูกลง
สถานะปัจจุบัน
ขณะนี้ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้นำสิทธิการใช้งานความจุที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ เปิดใช้งานแล้ว จำนวน ๑,๑๙๐ Gbps (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔) โดยภายหลังจากได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิการใช้งานความจุฯ แล้ว บมจ. โทคมนาคมแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขข้อกำหนดการอนุญาตให้ใช้สิทธิการใช้งานความจุฯ ที่กำหนดให้ลดอัตราค่าบริการจากปกติไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของอัตราค่าบริการภายในระยะเวลา ๒ ปี โดยการดำเนินการในขณะนี้สามารถปรับลดราคาค่าบริการการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ (IIG) ปรับลดได้ ๔๕ % - ๕o % และวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (IPLC) ปรับลดได้ ๓๐ % ซึ่งสามารถปรับลดอัตราค่าบริการได้มากกว่าร้อยละ ๒๐ ของอัตราค่าบริการ ตามเงื่อนไขข้อกำหนดฯ ทั้งนี้ จากการปรับลดอัตราค่าบริการ ทำให้มี IIG Traffic มีการใช้งานเป็น ๙๙๘ Gbps และ Bandwidth (IPLC) มีการใช้งานเป็น ๓,๑๒๓ Gbps รวม ๔,๑๒๑ Gbps คิดเป็น ๖๗.๑๑ % ของความจุสูงสุด โดยสิทธิการใช้งานความจุเท่ากับเดือนเมษายน ในขณะที่ปริมาณการใช้งาน IIG Traffic เพิ่มขึ้น ๑๐ Gbps และ Bandwidth (IPLC) เพิ่มขึ้น ๒๓ Gbps
ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ให้บริการผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบเปิด (Over-The-Top : OTT) รายใหญ่ เข้ามาตั้ง Server ในประเทศไทย เพื่อเป็น Hub ในการให้บริการแล้ว โดยใช้งานบนระบบเคเบิลใต้น้ำที่ได้ขยายความจุจากกิจกรรมย่อยที่ ๒ ด้วยความพร้อมในการขยายความจุดังกล่าว ส่งผลให้บริการ IIG สามารถรองรับ Traffic จากผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศเมียนมาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเหตุความไม่สงบภายในประเทศได้ นอกจากนี้ บริการ IPLC สามารถส่งมอบวงจรที่ล่าช้าจากเหตุระบบเคเบิลใต้น้ำขัดข้องให้กับลูกค้าได้ตามกำหนดเช่นกัน ส่งผลให้เดือนเมษายน ๒๕๖๔ นั้น ทั้ง 2 บริการ มีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้น สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมย่อยที่ ๒
กิจกรรมย่อยที่ ๓ การสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเส้นใหม่ (ASIA Direct Cable (ADC)) เป็นการร่วมก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่เชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ร่วมกับภาคีสมาชิก 6 ประเทศ
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเวียดนาม
สถานะปัจจุบัน
ขณะนี้ผู้รับจ้างก่อสร้างระบบ และภาคีสมาชิกดำเนินกิจกรรมการทำ Project Management Plan and Quality Assurance Review และ Marine Route Survey ทางด้านเหนือของระบบฯ และน่านน้ำฮ่องกง Desktop Study Review และ Product Design Review แล้วเสร็จ รวมถึงการผลิตสายเคเบิลและ Repeater แล้วเสร็จบางส่วน และอยู่ระหว่างการทำ Marine Route Survey ทางด้านใต้ของระบบฯ คาดว่าจะส่งมอบสิทธิการใช้งานได้ภายในปี ๒๕๖๕ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีเส้นทางที่หลากหลายเชื่อมตรง (Direct Route) โดยการลงทุนสามารถรองรับการใช้งาน จำนวน 9 Tbps ในเส้นทาง 1) ประเทศไทยไปฮ่องกง 2) ประเทศไทยไปสิงคโปร์ 3) ฮ่องกงไปประเทศญี่ปุ่น