![]() |
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม |
กองการต่างประเทศ
ข้อมูลภารกิจด้านต่างประเทศของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อจัดทำหนังสือรายงานประจำปี ๒๕๖๕
ภารกิจ
๑. ดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นภาคี หรือการเข้าร่วมในกิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศด้านไปรษณีย์ อุตุนิยมวิทยา สถิติ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
๒. จัดประชุม เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ จัดทำและให้ความเห็นเกี่ยวกับธรรมนูญ อนุสัญญา กฎ ข้อบังคับ ข้อตกลง และข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาล และหน่วยงานต่างประเทศด้านไปรษณีย์ อุตุนิยมวิทยา สถิติ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งติดตามประเมินผลและดำเนินการตามมติที่ได้รับมอบหมายจากการประชุม
๓. จัดทำและให้ความเห็นเกี่ยวกับความตกลง ความร่วมมือ ความช่วยเหลือ และการแลกเปลี่ยน รวมทั้งการติดต่อและประสานงานกับองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาล และหน่วยงานต่างประเทศ ด้านไปรษณีย์ อุตุนิยมวิทยา สถิติ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
๔. ร่วมมือและประสานงานกับองค์การและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ
๕. พิจารณาจัดทำงบประมาณเพื่อการบริหารกิจการระหว่างประเทศ และการชำระค่าบำรุงการเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ
๖. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมายโดยมีการแบ่งงานภายในออกเป็น ๑ ฝ่าย ๔ กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานความร่วมมือระดับทวิภาคี กลุ่มงานความร่วมมือระดับพหุภาคี กลุ่มงานองค์การระหว่างประเทศ กลุ่มงานความร่วมมือระดับภูมิภาค และฝ่ายบริหารงานทั่วไป
๑. ฝ่ายบริหารงานทั่วไป มีภารกิจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป งานสารบรรณ และงานธุรการงานบุคคล งานการเงิน งานพัสดุและงานงบประมาณของกอง รวมถึง ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
๒. กลุ่มงานความร่วมมือระดับทวิภาคี มีภารกิจหน้าที่ในการเข้าร่วมกิจกรรม การประชุมระหว่างประเทศ การติดตามประเมินผลและดำเนินการการจัดทำและให้ความเห็นเกี่ยวกับความตกลง ความร่วมมือ บันทึกความเข้าใจ ความช่วยเหลือ และการแลกเปลี่ยน รวมทั้งการติดต่อและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านไปรษณีย์ อุตุนิยมวิทยา สถิติ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในระดับทวิภาคี (สองฝ่าย) อาทิ ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ลาว ไทย-สิงคโปร์ รวมทั้งจัดเตรียมการเข้าเยี่ยมคารวะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง (Courtesy Call) ของผู้แทนระดับสูงจากต่างประเทศ และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
๓. กลุ่มงานความร่วมมือระดับพหุภาคี มีภารกิจในการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงไปรษณีย์ อุตุนิยมวิทยา สถิติ ในระดับความร่วมมือพหุภาคี อาทิ ความร่วมมือในกรอบอาเซียน (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) อาเซียน และคู่เจรจา ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา ความร่วมมือในกรอบเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) รวมไปถึงการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม การเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ ติดตามประเมินผลและดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากการประชุม จัดทำและให้ความเห็นเกี่ยวกับความตกลง ความร่วมมือ ความช่วยเหลือ และการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนการติดต่อและประสานงานกับหน่วยงาน องค์กรระหว่างประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือพหุภาคีรวมถึงการปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
๔. กลุ่มงานองค์การระหว่างประเทศ มีภารกิจในการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าร่วมการประชุมและเข้าร่วมกิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศ อาทิ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) และสหประชาชาติ (UN) ) จัดทำและให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับความตกลง ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และติดต่อประสานงานกับองค์การระหว่างประเทศในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไปรษณีย์ อุตุนิยมวิทยา และสถิติ รวมไปถึงการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม การให้ความเห็นเกี่ยวกับธรรมนูญ อนุสัญญา กฎหมายและข้อเสนอแนะในการพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาในองค์การระหว่างประเทศ การดำเนินการตามพันธกรณี การดำเนินเกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ในองค์การระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งในนามบุคคลและประเทศ รวมไปถึงการดำเนินการเกี่ยวกับทุนศึกษา/ฝึกอบรม/ดูงานขององค์การระหว่างประเทศ
๕. กลุ่มงานความร่วมมือระดับภูมิภาค มีภารกิจในการดำเนินการจัดทำและให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับความตกลงบันทึกความเข้าใจ ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาภายใต้ความร่วมมือระดับภูมิภาค อาทิ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program : GMS) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ตลอดจนติดตามประเมินผลและดำเนินการตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในความตกลง/บันทึกความเข้าใจ พร้อมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการเจรจาและจัดทำความตกลงด้านการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ รวมทั้งติดตามประเมินผลและดำเนินการตามมติที่ได้รับมอบหมายจากการประชุม และดำเนินการเกี่ยวกับทุนศึกษา/ฝึกอบรม/ดูงานของรัฐบาลต่างประเทศ (ทุนประเภท ๑ ข)
ผลงานสำคัญ
ทวิภาคี
การประชุมระดับรัฐมนตรีไทย-จีน ด้านความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ครั้งที่ ๑ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
การประชุมระดับรัฐมนตรีไทย-จีน ด้านความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ครั้งที่ ๑
การประชุมระดับรัฐมนตรีไทย-จีน ด้านความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ครั้งที่ ๑ ได้จัดขึ้นเมื่อ
วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายเฉิน จาวเสียง (H.E. Chen Zhaoxiong) รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นประธานร่วมในการประชุมดังกล่าว โดยที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการหารือในหัวข้อหลัก ได้แก่ (๑) เศรษฐกิจดิจิทัล สมาร์ทซิตี้ ไอซีทีคอนเวิร์จแอพพลิเคชัน ซอฟต์แวร์และบริการด้านไอที (๒) การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีและ 5G (๓) การเปลี่ยน แปลงทางดิจิทัลของอุตสาหกรรม (๔) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (๕) ปัญญาประดิษฐ์ และ (๖) กลไกในการทำงานต่อไป โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมระดับคณะทำงานร่วม ไทย-จีน ด้านความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย
การหารือทวิภาคี
ในระหว่างการหารือทวิภาคีระหว่างไทยและจีน เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ฝ่ายจีนได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลจีนเล็งเห็นถึงความสำคัญและสนับสนุนให้เกิดการประชุมในครั้งนี้ เนื่องจากไทยและจีนมีศักยภาพสูงในการขยายความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างกัน รวมถึงความร่วมมือใน EEC และจีนได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือกับไทยไปสู่ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยมีความยินดีที่ความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างไทย-จีน มีความก้าวหน้าไปอีกขั้น และไทยจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้เกิดความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม โดยยินดีสนับสนุนการดำเนินการตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีนด้วยการเป็นช่องทางเชื่อมโยงจีนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ความร่วมมือในกรอบแม่โขง-ล้านช้าง หรือ ACMECS ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อภูมิภาคนี้
การจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลกับต่างประเทศ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้จัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลกับรัฐบาลและหน่วยงานของประเทศต่างๆ โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้ (ทั้งในด้านนโยบาย ด้านเทคนิค และแนวปฏิบัติที่ดีต่างๆ) การพัฒนาบุคลากร (การแลกเปลี่ยนบุคคลากรและการฝึกอบรมต่างๆ) และการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งเป็นไปตามความสนใจและความเชี่ยวชาญของหน่วยงานที่ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ
โดยที่ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๖๒ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จำนวน ๑๐ ฉบับ ได้แก่
๑) กระทรวงวิทยาศาสตร์ ไอซีทีและแผนงานอนาคต (เกาหลีใต้) ๒) กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร (เวียดนาม) ๒) กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร (ญี่ปุ่น) ๔) กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (สิงคโปร์) ๕) คณะกรรมการเศรษฐกิจ การค้าและสารสนเทศเทศบาลเมืองเซินเจิ้น (จีน) ๖) กระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม (ลาว) ๗) รัฐบาลออสเตรเลีย ๘) กระทรวงไอซีทีและนวัตกรรม (รวันดา) ๙) กระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร (ฟินแลนด์) และ ๑๐) สมาคมฟรอนโฮเฟอร์ (เยอรมัน)
พหุภาคี
การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre)
ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (TELMIN) ครั้งที่ ๑๗ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ ได้อนุมัติการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre) โครงการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุน Japan ASEAN Integration Fund (JAIF) จำนวน ๕ ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นระยะเวลา ๔ ปี
วัตถุประสงค์ของศูนย์ดังกล่าว คือ
- จัดกิจกรรมฝึกอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีหลักสูตรการฝึกอบรมสอดคล้องกับ
ความต้องการของประเทศสมาชิกอาเซียน
- ให้ความรู้และยกระดับความสามารถในการจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของอาเซียน
- สร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอาเซียน
การอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศกว่า ๗๐๐ คน โดยจะมีการอบรม ปีละ ๖ ครั้ง ครั้งละ ๒๔ คน ตลอดระยะเวลา ๔ ปี รวมทั้งบุคลากรที่จะเข้าร่วมการแข่งขัน Cyber SEA Game ซึ่งเป็นการแข่งขันทางเทคนิคด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับอาเซียน โดยจะมีผู้เข้าร่วมปีละ ๔๐ คนจาก ๑๐ ประเทศอาเซียน ติดต่อกัน ๔ ปี
หลักสูตรอบรม ประกอบด้วย
- CYDER (Cyber Defense Exercise for Recurrence) ความสามารถการรับมือภัยคุกคาม
ไซเบอร์ (incident Response) โดยจะเป็นการจำลองสถานการณ์และซ้อมการรับมือสถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์
- Forensics ความสามารถในการหาร่องรอยการโจมตีและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล
- Malware Analysis ความสามารถวิเคราะห์มัลแวร์ประเภทต่าง ๆ ตามภัยคุกคามทางไซเบอร์
ปัจจุบัน ไทยได้จัดการเปิดศูนย์ฯ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมด้วย Mr. Katsuya Watanabe, Vice Minister for Policy Coordination (International Affairs), Ministry of Internal Affairs and Communication, Japan เป็นประธาน และเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศมาเข้าร่วมงานด้วย
ที่ผ่านมา ได้มีการจัดอบรมไปแล้วจำนวน ๗ ครั้ง และจัดกิจกรรม Cyber SEA Game เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมแล้ว เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๘๘ คน (สถานะข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒)
การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Digital Ministers’ Retreat)
ในโอกาสที่ไทยได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ และกำหนดยุทธศาสตร์ของไทยในการผลักดันอาเซียนเข้าสู่ยุคดิจิทัล และสอดคล้องกับ Theme หลักของการทำหน้าที่ประธาน คือ Advancing Partnership for Sustainability กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Digital Ministers’ Retreat) ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ ร่วมด้วยเลขาธิการอาเซียน
โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์ที่สำคัญ ได้แก่ การปรับตัวของอุตสาหกรรม ยุค 4.0 ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การพัฒนากำลังคนรองรับยุคดิจิทัล ความพร้อมของกฎหมายด้านดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเมืองอัจฉริยะ และเร่งรัดการดำเนินงานร่วมกันของอาเซียน การวางอนาคตอาเซียน โดยเฉพาะมุ่งสู่การเป็น Digital ASEAN เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที
รวมถึงการให้แนวทางการจัดทำแผนแม่บทฉบับใหม่ โดยจะปรับชื่อแผนแม่บทจากASEAN ICT Masterplan เป็น ASEAN Digital Masterplan 2025 ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล และจะมุ่งเน้นในเรื่องของข้อมูลดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และระบบนิเวศดิจิทัล
เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN)
เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน หรือ ASEAN Smart Cities Network (ASCN) เป็นข้อริเริ่มของสิงคโปร์ในช่วงที่เป็นประธานอาเซียน ในปี ๒๕๖๑ โดย ASCN เป็นเวทีความร่วมมือสำหรับเมืองต่างๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน ASCN ประกอบด้วยเมืองจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ๒๖ เมือง ได้แก่ บันดาร์ เสรีเบกาวัน กรุงเทพมหานคร บันยูวังงี พระตะบอง เซบู ชลบุรี ดานัง ดาเวา จาการ์ตา ฮานอย โฮจิมินห์ ยะโฮร์บาห์รู โกตากินะบะบู กัวลาลัมเปอร์ กูซิง หลวงพระบาง มะกัสซาร์ มัณฑะเลย์ มะนิลา เนปิดอว์ พนมเปญ ภูเก็ต เสียมราฐ สิงคโปร์ เวียงจันทน์ และย่างกุ้ง โดยที่เครือข่ายนี้สามารถขยายต่อไปได้ในอนาคต
ในปี ๒๕๖๒ ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน และประธานเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network หรือ ASCN) จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนในปี ๒๕๖๒ จำนวน ๒ ครั้ง ในเดือนมิถุนายน และเดือนสิงหาคม โดยให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักของไทย คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ดังนี้
ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้จัดประชุม ASEAN Smart Cities Network Roundtable Meeting and Conference on Smart and Sustainable City เมื่อวันที่ ๖-๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ โดยมีปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรายงานผลสำเร็จจากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของสมาชิก ASCN แต่ละเมือง รวมถึงการพิจารณาเอกสาร ASCN Term of Reference หรือแนวทางการดำเนินงานของกรอบ ASCN และเอกสาร ASCN Monitoring and Evaluation (MNE) Framework หรือกรอบการติดตามและประเมินผลการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ พร้อมทั้งหารือเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม ASCN Annual Meeting ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒
องค์การระหว่างประเทศ
การเข้าร่วมการประชุม World Summit on the Information Society Forum 2019(WSIS Forum 2019) ของ ITU และเข้าร่วมรับรางวัลชนะเลิศด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและการสื่อสาร (WSIS Project Prizes 2019) วันที่ ๗ – ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์) ได้เข้าร่วมการประชุม High-Level Track ระหว่างการประชุม WSIS Forum 2019 และได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงเชิงนโยบายในหัวข้อ Bridging the Digital Divide ซึ่งได้กล่าวถึงการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยภายในปี ๒๕๖๒ ประเทศไทยจะขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน และชุมชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึง ICT และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการยกระดับคุณภาพชีวิต การพัฒนาต่อยอดธุรกิจ เช่นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ e-marketing และ e-logistics เป็นต้น ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความพร้อมด้านกฎหมายเพื่อรองรับความท้าทายด้าน ไซเบอร์ โดยประเทศไทยได้ออกกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฏหมายเพื่อรองรับการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เข้าร่วมรับรางวัลชนะเลิศด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและการสื่อสาร ( the Winner WSIS Action 2- Information and Communication Infrastructure) จากการส่งโครงการเน็ตประชารัฐ หรือการติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุม ๒๗,๔๐๐ หมู่บ้านทั่วประเทศ เข้าประกวดรางวัล WSIS Project Prizes 2019 ของ ITUซึ่งมีประเทศต่างๆ ส่งโครงการเข้าประกวดมากกว่า ๑,๐๖๒ ทั่วโลก โดยในส่วนของเอเชียแปซิฟิกมีจำนวน ๓๐๘ โครงการที่ส่งประกวด
การประชุมรัฐมนตรี ICT ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ค.ศ. ๒๐๑๙ เมื่อวันที่ ๒๕-๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ ประเทศสิงคโปร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มอบหมายให้นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี ICT ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ค.ศ. ๒๐๑๙ (The Asia-Pacific ICT Ministerial Meeting 2019) ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ ประเทศสิงคโปร์ จัดขึ้นโดยองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) ร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์ ในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี ของการก่อตั้ง APT โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกและสมาชิกสมทบรวม ๓๒ ประเทศ เข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่งที่ประชุมฯ ได้รับรองแถลงการณ์รัฐมนตรี (Ministerial Statement) ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการส่งเสริมอนาคตด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ “Singapore Statement of the Asia-Pacific ICT Ministers on Co-creating a Connected Digital Future in the Asia-Pacific” แถลงการณ์ดังกล่าว เป็นเอกสารแสดงเจตจำนงของประเทศสมาชิก APT ซึ่งมีจำนวน ๓๘ ประเทศ ในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาส่งเสริมอนาคตด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในระยะ ๕ ปีข้างหน้า ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ ๕ หัวข้อ ได้แก่ (๑) การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล (DigitalTransformation) (๒) นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ทางดิจิทัล (Digital Innovation and Creativity) (๓) ชุมชนดิจิทัล (Digital Community) (๔) ความเชื่อมั่นด้านดิจิทัล (Digital Trust) (๕) ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและความร่วมมือในทุกภาคส่วน (Digital Skills and Partnerships)
ภูมิภาค
ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)
ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค ประกอบด้วยสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย โดยมีการประชุมที่สำคัญที่ผ่านมาคือ การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ ๑๕-๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ กรุงเทพ ซึ่งที่ประชุมได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ ๒ ฉบับ ได้แก่ ๑) แผนแม่บท ACMECS ระยะ ๕ ปี (ค.ศ ๒๐๑๙-๒๐๒๓) ประกอบด้วย ๓ เป้าหมายหลัก (Goal 3S) ได้แก่ (๑) Seamless Connectivity (๒) Synchronized ACMECS และ (๓) Smart and Sustainable ACMECS และ ๒) ร่างปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) สำหรับการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘
โดยภายใต้การจัดทำร่างแผนแม่บทฉบับนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้จัดทำความร่วมมือด้านดิจิทัลภายใต้ ๓ เสาหลัก ได้แก่ (๑) Seamless Connectivity Synchronized (๒) Synchronized ACMECS Economies และ (๓) Smart and Sustainable ACMECS รวมทั้งได้จัดทำข้อเสนอโครงการในระยะแรก (ปี ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๐) ในประเด็นดังนี้ Digital Connectivity, Digital Laws, Cyber Security และ Smart Cityพร้อมทั้งได้มีการจัดทำข้อเสนอโครงการด้านดิจิทัลที่ต้องดำเนินการในระยะแรก (Prioritized Projects) ในปี ค.ศ. 2019-202๐ เพื่อบรรจุในแผนแม่บท ACMECS จำนวน ๕ โครงการ ได้แก่ Submarine Cable Link, Digital ACMECS Ring, Digital Laws, Cyber Security และ Smart City โดยมีสองโครงการ ได้แก่ โครงการ Submarine Cable Link และโครงการ Digital ACMECS Ring ที่ได้รับเลือกให้เป็น ACMECSPrioritized Projects ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจากประเทศสมาชิกในการร่วมดำเนินโครงการ รวมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners) ถึงความเป็นไปได้ในการร่วมดำเนินโครงการดังกล่าว
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD)
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ได้เข้าร่วมในคณะกรรมการด้านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Committee on Digital Economy Policy - CDEP) ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ โดยการเป็นสมาชิกของคณะกรรมการ CDEP (ปัจจุบันอยู่ในสถานะ Participant) จะทำให้ไทยมีโอกาสได้รับทราบถึงแนวทางการพัฒนานโยบายดิจิทัลของประเทศสมาชิก ซึ่ง OECD เป็นหน่วยงานที่มีแหล่งข้อมูลความรู้ อาทิ ข้อมูลสถิติ ข้อมูลวิจัยเชิงนโยบาย รายงาน การศึกษา และแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะสามารถนำมาปรับใช้กับแนวนโยบายของไทยได้ รวมทั้งจะเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายและเจรจาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ศักยภาพด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD และพันธมิตรต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมของคณะกรรมการ CDEP ที่สำคัญ ได้แก่
การเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการ CDEP ครั้งที่ ๗๗ เมื่อวันที่ ๑๔-๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ สำนักงาน OECD กรุงปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ในขณะนั้น) ได้เข้าร่วมการประชุมฯ และได้นำเสนอข้อมูลนโยบาย Thailand 4.0 และแนวทางการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทยต่อที่ประชุมคณะกรรมการ CDEP ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนา Digital Park Thailand การพัฒนาบุคลากรในการส่งเสริม Start up และการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ให้ความสนใจและแสดงความชื่นชมในการดำเนินงานในการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย
นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการ Country Programme (CP) ระหว่างรัฐบาลไทยกับ OECD โดยกระทรวงฯ ได้ดำเนินโครงการ Supporting the Digital Economy ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและ OECD ในด้านดิจิทัล อันจะนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ ที่เป็นเลิศระหว่างประเทศสมาชิก OECD เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านดิจิทัลและการปฏิรูประบบดิจิทัลของประเทศไทยในปัจจุบัน อาทิ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย นโยบายการพัฒนาดิจิทัลของไทยให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ รวมทั้งการบูรณาการงานด้านดิจิทัลให้ปรับเข้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคต
***************************************
การก้าวไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนผ่านกลไกการดำเนินงานของกรอบอาเซียนด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Sector) ภายใต้เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
ภายใต้บริบทของการพัฒนาด้านดิจิทัลในกรอบอาเซียนในการขับเคลื่อนการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ และบรรลุแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ ที่มุ่งสู่การรวมตัวกันอย่างลึกซึ้งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีความเป็นเอกภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มีพลวัต และมีความหลากหลายรวมทั้งมีความเชื่อมโยงและความร่วมมือจากแต่ละภาคส่วนที่เพิ่มขึ้น และเป็นประชาคมที่มีความแข็งแกร่ง ทุกคนมีส่วนร่วม มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก นั้น
ในกรอบการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (TELMIN) ได้มีการนำเสนอแนวคิด การปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของ TELMIN เพื่อผลักดันการปรับตัวของอาเซียน ในการรองรับการเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วด้วยการเปลี่ยนชื่อการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and Information Technology Minister: TELMIN) เป็น การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Ministers’ Meeting: ADGMIN) เพื่อรับมือกับความท้าทายในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ จากการประชุม ADGMIN ครั้งที่ ๑ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ ๑๘ - ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ มาเลเซียในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมได้การประกาศแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. ๒๐๒๕ หรือ ASEAN Digital Masterplan 2025: ADM 2025 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของการประชุมฯ โดยแผนแม่บท ADM 2025 ได้กำหนดทิศทางความร่วมมืออาเซียนด้านดิจิทัล ระยะ ๕ ปี ระหว่างปี ๒๕๖๔ – ๒๕๖๘ ต่อจากแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน ปี ๒๕๖๓ (ASEAN ICT Masterplan 2020: AIM 2020) (ระยะ ๕ ปี ระหว่างปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๓) เพื่อมุ่งให้อาเซียนบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นประชาคมชั้นนำด้านดิจิทัลและกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี บริการดิจิทัล และระบบนิเวศที่มีความปลอดภัยและปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕
ข้อมูลเพิ่มเติม ผลการประชุม ADGMIN 1
ทั้งนี้ แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ ประกอบด้วยแผนการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้
๑. การเพิ่มความสามารถของภูมิภาคในการตอบสนองต่อความท้าทายและแนวโน้มของโลก ส่งเสริมการเป็นตลาดเดียวจากการมีความตกลงเกี่ยวกับการค้าขายสินค้า และขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในด้านบริการการค้าและความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายการลงทุน แรงงานมีฝีมือ นักธุรกิจ และเงินทุน
๒. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรม และมีพลวัตซึ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตเชิงผลผลิตผ่านการใช้ประโยชน์ของความรู้ และนโยบายที่ส่งเสริมนวัตกรรมเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล หลักกฎหมายที่โปร่งใสและตอบสนอง ตลอดจนกลไกระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพ
๓. การส่งเสริมความเชื่อมโยงที่มากขึ้นและความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีการพัฒนากรอบความร่วมมือระดับภูมิภาครวมทั้งนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจ
๔. การสร้างประชาคมที่แข็งแกร่ง ทุกคนมีส่วนร่วม ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเสมอภาคและการเจริญเติบโตที่ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นประชาคมที่มีนโยบายเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อยที่มีประสิทธิภาพ และร่วมมือกันเพื่อลดช่องว่างการพัฒนา และเป็นประชาคมที่มีการปฏิสัมพันธ์กับภาคธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีประสิทธิภาพ มีความร่วมมือและโครงการด้านการพัฒนาระดับอนุภูมิภาค และมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นเพื่อขจัดความยากจน
๕. การพัฒนาศักยภาพอาเซียนที่เป็นสากลและดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภาคีภายนอกด้วยวิธีการที่เป็นระบบและสอดคล้องกันยิ่งขึ้น และยังคงเป็นผู้ขับเคลื่อนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกที่คงความเป็นศูนย์กลางและมีความสำคัญ รวมทั้งเป็นอาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียว และมีบทบาทและเสียงที่มากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลกในการจัดการและรับมือกับประเด็นทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติม ASEAN Digital Masterplan 2025